<
 
 
 
 
×
>
You are viewing an archived web page, collected at the request of United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization (UNESCO) using Archive-It. This page was captured on 22:59:41 Jul 11, 2016, and is part of the UNESCO collection. The information on this web page may be out of date. See All versions of this archived page.
Loading media information hide

Follow Us:

ข่าวประชาสัมพันธ์: “From Insult to Inclusion”–“จากการถูกเหยียดหยาม สู่การมีส่วนร่วมในระบบการศึกษา”

19.11.2015

ยูเนสโกออกรายงานระดับภูมิภาคฉบับแรกเกี่ยวกับการรังแกนักเรียนที่เป็นหญิงรักหญิง ชายรักชาย คนรักสองเพศ คนข้ามเพศ หรือคนที่แสดงลักษณะสองเพศมาตั้งแต่กำเนิด (LGBTI) ในโรงเรียนแถบเอเชียแปซิฟิก

ทบทวนตรวจสอบขอบเขตและผลกระทบของการข่มเหงรังแกบนฐานวิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกทางเพศที่แตกต่างจาก 40 ประเทศ และแสดงให้เห็นจุดอ่อนในการแก้ไขปัญหาในภาคส่วนการศึกษา

กรุงเทพฯ 19 พฤศจิกายน 2558 – การข่มเหงรังแกนักเรียนที่เป็นหญิงรักหญิง ชายรักชาย คนรักสองเพศ คนข้ามเพศ และคนที่แสดงลักษณะสองเพศตั้งแต่กำเนิด (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender and Intersex หรือ LGBTI) เป็นเรื่องที่พบเห็นได้เสมอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและความพยายามจากภาคส่วนการศึกษาในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ยังไม่เพียงพอ จากผลการรายงานที่ได้เปิดตัวในวันนี้ โดยองค์การยูเนสโก สำนักงาน กรุงเทพฯ

“From Insult to Inclusion - จากการถูกเหยียดหยาม สู่การมีส่วนร่วมในระบบการศึกษา: รายงานด้านการข่มเหงรังแก การใช้ความรุนแรงและการกีดกัน หรือ เลือกปฏิบัติบนฐานวิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงออกทางเพศที่แตกต่างนับเป็นรายงานระดับภูมิภาค ที่สมบูรณ์ ฉบับแรก ที่ศึกษาปัญหาเหล่านี้อย่างละเอียดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงผลกระทบที่บาดลึกจากการรังแกข่มเหงดังกล่าว และมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลต่างๆ นำมาใช้หรือสามารถนำมาใช้ จะได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงในรายงานด้วย

รายงาน “From Insult to Inclusion - จากการถูกเหยียดหยาม สู่การมีส่วนร่วมในระบบการศึกษา” รวบรวมมาจากเอกสารกว่า 500 ฉบับ ซึ่งหมายรวมถึงทั้งเอกสารที่ได้รับการตีพิมพ์ และไม่ได้รับการตีพิมพ์ เอกสารที่มีการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านเดียวกัน และรายงานที่ผลิตโดยสื่อมวลชน จาก 40 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก และยังได้รับข้อมูลและข้อเสนอแนะโดยตรงจากผู้ที่เกี่ยวข้องอีกมากมายในภูมิภาคฯ รวมทั้งจากผู้เข้าร่วมการประชุมปรึกษาหารือระดับภูมิภาค กว่า 100 คนจาก 13 ประเทศ ซึ่งจัดโดยองค์การยูเนสโก และสำนักงานโครงการ พัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา

กวาง-โจ คิม ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่ารายงานฉบับดังกล่าว ออกมาได้ประจวบเหมาะกับ แนวทางการศึกษาใหม่ระดับโลก ซึ่งตรงกับเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนข้อที่สี่ ว่าด้วยเรื่อง “inclusive and quality education for all – การศึกษาที่ครอบคลุมและมีคุณภาพสำหรับทุกคน”

“การได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกันและปลอดภัยไม่ใช่เอกสิทธิ์ของคนส่วนใหญ่ในแต่ละสังคม” กวาง-โจ คิม กล่าว “พลังแห่งการศึกษาและศักยภาพของการศึกษาในการสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้น อยู่ที่ว่าการศึกษาเข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวาง การศึกษาจึงสามารถมอบโอกาสต่างๆ ให้สำหรับผู้คนที่ถือว่าเป็นชายขอบของสังคม รวมทั้งสามารถเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานและปฏิบัติการทางสังคมได้ นำไปสู่สังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมและได้รับความเคารพ”

ในขณะที่รัฐบาลส่วนมากของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะให้เยาวชนทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติหรือการกีดกัน แต่ในความเป็นจริงนักเรียนกลุ่ม LGBTI  ส่วนมากในโรงเรียนแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกลับไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากส่วนนี้

รายงานดังกล่าวได้พบว่าเยาวชน LGBTI ส่วนใหญ่ในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่างกล่าวว่า พวกเขาถูกกลั่น แกล้ง และใช้ความรุนแรงไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในโรงเรียน – ในบางประเทศนักเรียน LGBTI จำนวนสี่ในห้าคน ล้วนได้รับผลกระทบดังกล่าว จากการข่มเหงรังแกที่ส่งผลบาดลึก ผลการศึกษาในบางประเทศพบว่า หนึ่งในสาม ของนักเรียน LGBTI ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า จำนวนเจ็ดใน 10 คนเคยทำร้ายตัวเอง และเกือบห้า ใน 10 คนกล่าวว่าเคยพยายามฆ่าตัวตาย

จัสตีน แซซ ที่ปรึกษาระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้านเอชไอวีและสุขศึกษา องค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่ารายงานดังกล่าวเรียกร้องให้เกิดการดำเนินการแก้ไขปัญหาการข่มเหงรังแก เนื่องจากการข่มเหงรังแกกันมีผลกระทบตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคลจนถึงระดับสังคมในภาพรวม

“ตัวรายงาน “From Insult to Inclusion - จากการถูกเหยียดหยาม สู่การมีส่วนร่วมในระบบการศึกษา” ได้รวบรวมหลักฐานวิชาการจำนวนมาก ซึ่งบ่งชี้ว่าการข่มเหง การใช้ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติบนฐานวิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงออกทางเพศที่แตกต่างเป็นปัญหาที่แพร่หลายมาก และสร้างผลกระทบทางลบอันยาวนานแก่ตัวนักเรียนและสังคมภายในโรงเรียน” จัสตีน แซซ กล่าว “กระทรวงศึกษาธิการในประเทศต่างๆ  ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาที่ปลอดภัย และให้ทุกคนมีส่วนร่วม เพื่อให้นักเรียนทุกคนมาศึกษาและเติบโตไปพร้อมกันได้”

รายงาน “From Insult to Inclusion - จากการถูกเหยียดหยาม สู่การมีส่วนร่วมในระบบการศึกษา” ถ่ายทอดประสบการณ์ของนักเรียน LGBTI ที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้ รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าบริบททางกฎหมาย และการศึกษาในประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ว่าเกี่ยวข้องกับการข่มเหงบนฐานวิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกทางเพศที่แตกต่างอย่างไร จากการศึกษา ยังแสดงอีกว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีเพียงประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ ที่ได้สร้างระบบการป้องกันการข่มเหงรังแกกันที่ปกป้องนักเรียน LGBTI โดยให้ทั้งโรงเรียนมีส่วนร่วมและสร้างบนฐานหลักวิชาการ และนำระบบดังกล่าวไปใช้ในโรงเรียนจำนวนมาก และมีเพียงสองสามประเทศ ที่ได้บรรจุประเด็นที่เกี่ยวกับวิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงออกทางเพศไว้ในหลักสูตรระดับชาติ

องค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้ร่วมกันให้การสนับสนุนไปยังกลุ่มเป้าหมายในประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และไทย และในภายภาคหน้าจะสนับสนุนการจัดประชุมปรึกษาหารือระดับชาติในประเทศดังกล่าว เพื่อยกระดับการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามที่ได้ระบุไว้ในรายงาน

รายงานดังกล่าวได้รับการเปิดตัวในงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไป ณ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แห่งประเทศไทย ภายในงานยังได้มีการอภิปราย โดยมีนักเรียน  LGBTI รายหนึ่งที่ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ในการรับมือกับปัญหาแบบที่กล่าวไว้ในรายงาน “From Insult to Inclusion - จากการถูกเหยียดหยาม สู่การมีส่วนร่วมในระบบการศึกษา”

ท่านสามารถดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงาน “From Insult to Inclusion - จากการถูกเหยียดหยาม สู่การมีส่วนร่วมในระบบการศึกษา” ได้ที่ unesdoc.unesco.org/images/0023/002354/235414E.pdf

ผลการวิจัยที่สำคัญสามารถดาวน์โหลดได้ที่ goo.gl/uiojdN

เสียงจากเยาวชน LGBTI ที่ปรากฏในรายงานสามารถดาวน์โหลดได้ที่ goo.gl/TfXMzNA

ประวัติโดยสังเขปของผู้ร่วมงานแถลงข่าว ณ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย สามารถดาวน์โหลด ได้ที่  goo.gl/V88A0K

ติดต่อ:  คุณกรรณิกา บุตรพรม บริษัท ไมดาส พีอาร์ จำกัด  pui@midas-pr.com  081-712-4285

ติดต่อยูเนสโก: โนเอล บัวแวง เจ้าหน้าที่ด้านสื่อมวลชนและการสื่อสาร n.boivin@unesco.org