<
 
 
 
 
×
>
You are viewing an archived web page, collected at the request of United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization (UNESCO) using Archive-It. This page was captured on 16:01:54 Oct 05, 2022, and is part of the UNESCO collection. The information on this web page may be out of date. See All versions of this archived page.
Loading media information hide

ยูเนสโกประกาศเพิ่ม 77 เมืองในเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ในปี 2022 เนื่องในวันสากลแห่งการรู้หนังสือ

ยูเนสโกประกาศเพิ่ม 77 เมืองในเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ในปี 2022 เนื่องในวันสากลแห่งการรู้หนังสือ

สถาบันด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโกประกาศเพิ่ม 77 เมืองจาก 44 ประเทศเข้าในเครือข่ายระดับโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก จากความพยายามอันยอดเยี่ยมในการทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นจริงได้สำหรับชุมชนท้องถิ่นและภูมิภาค ในจำนวนนี้มี 13 เมืองมาจากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และเป็นเมืองจากประเทศไทย 3 เมือง

เครือข่ายระดับโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก เป็นเครือข่ายระหว่างประเทศที่ดำเนินงานเชิงนโยบาย ซึ่งแบ่งปันแรงบันดาลใจ ความรู้ความชำนาญ และวิถีปฏิบัติที่ดีที่สุดในหมู่เมืองสมาชิก เมืองแห่งการเรียนรู้จะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการแบ่งปันแนวคิดระหว่างกันตลอดทุกขั้นตอนของการพัฒนา เครือข่ายระดับโลกของเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกสนับสนุนความพยายามของกันและกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายที่ 4 ซึ่งมุ่ง ‘สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ตลอดจนเป้าหมายที่ 11 ซึ่งมุ่ง ‘ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน’ ภายในปี 2030

เมืองในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่ได้รับการเพิ่มชื่อในเครือข่ายในปีนี้ ได้แก่ 

แคนนิง (ออสเตรเลีย)กาวหลัญ (เวียดนาม), กว่างโจว (จีน), ฮาเมดาน (อิหร่าน), หาดใหญ่ (ไทย), ฮวาซ็อง (สาธารณรัฐเกาหลี), นิลัมบุระ (อินเดีย), นนซัน (สาธารณรัฐเกาหลี), พะเยา (ไทย), เซจง (สาธารณรัฐเกาหลี), สุโขทัย (ไทย), ตฤศศูร (อินเดีย) และ วารัลกัล (อินเดีย)

เมืองในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่ได้รับการเพิ่มชื่อในเครือข่ายหลังจากที่ได้รับการเสนอชื่อโดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโกในแต่ละประเทศและได้รับการแนะนำโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ สิ่งสำคัญที่ต้องมีในการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้คือความมุ่งมั่นแรงกล้าต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยนายกเทศมนตรีและทางการเมือง ตลอดจนมีกลไลการติดตามและแสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่มด้านนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดี  

ในปีนี้ ประเทศไทยเป็นผู้นำของประเทศภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่ได้รับการเพิ่มชื่อในสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้จากการที่มีเมืองได้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ 3 เมือง ได้แก่ หาดใหญ่ พะเยา และสุโขทัย เมื่อไม่นานนี้ ไทยได้ร่วมมือกับสถาบันด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโกและสำนักงานยูเนสโกเพื่อการศึกษาส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ยูเนสโก กรุงเทพฯ) ในการส่งเสริมแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกในภูมิภาค

เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและเป็นการเตรียมความพร้อมให้เมืองต่าง ๆ ของไทยเข้าเป็นสมาชิกในเครือข่ายมากยิ่งขึ้น ยูเนสโก กรุงเทพฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในการเสริมสร้างศักยภาพของนักวิชาการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ทั่วประเทศไทยร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) บพท. ยังได้สนับสนุนทางการเงินแก่เมืองต่าง ๆ เพื่อปรับโฉมวิธีการดำเนินงานเพื่อมุ่งไปสู่แนวคิดการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก นอกจากนี้ ยูเนสโกยังร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อุทยานการเรียนรู้ (TK park) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการส่งเสริมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ในไทย

หัวข้อสำหรับวันสากลแห่งการรู้หนังสือในปีนี้คือ ‘การพลิกโฉมพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือ: การแสวงหาโอกาสและความเป็นไปได้’ ซึ่งช่วยย้ำเตือนให้โลกได้ตระหนักถึงศักยภาพการเรียนรู้ว่ามีอยู่ในทุกบริบท ทุกช่วงอายุ และทุกชุมชน ยูเนสโกขอแสดงความยินดีกับสมาชิกเครือข่ายรายใหม่ในครั้งนี้และยินดีต้อนรับสมาชิกใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้ามาร่วมในอนาคต


เอกสารแถลงข่าวสำหรับระดับโลก (ภาษาอังกฤษ): UNESCO Global Network of Learning Cities: 77 new members from 44 countries