<
 
 
 
 
×
>
You are viewing an archived web page, collected at the request of United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization (UNESCO) using Archive-It. This page was captured on 17:57:46 Oct 06, 2022, and is part of the UNESCO collection. The information on this web page may be out of date. See All versions of this archived page.
Loading media information hide

UNESCO and ONIE support 8 pilot projects to teach living heritage and sustainable development in non-formal and informal education

UNESCO and ONIE support 8 pilot projects to teach living heritage and sustainable development in non-formal and informal education

คู่มือการสอนด้วยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในการศึกษาในการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย [DOWNLOAD ภาษาไทย]

โครงการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านศูนย์การเรียนชุมชนในประเทศไทย

ยูเนสโก และ กศน. มอบ 8 ทุนนำร่องการสอนมรดกภูมิปัญญาและการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ร่วมกันนำร่องโครงการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านศูนย์การเรียนชุมชนในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2564 ถึง 2565 โดยโครงการนี้อยู่ภายในแผนงานระดับโลกแผนงานใหม่ของยูเนสโก เรื่อง มรดกที่มีชีวิตและการศึกษา (Living Heritage and Education) ซึ่งปัจจุบันมีประเทศที่นำร่องแผนงานนี้เพียง 2 ประเทศเท่านั้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คือ ประเทศเนปาล และประเทศไทย

ทั้งนี้ โครงการในประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ข้อมูลและการสร้างเครือข่ายเพื่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกภายใต้การอุปถัมภ์ของยูเนสโก (ICHCAP) ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี

โครงการนี้มุ่งสร้างความตระหนักและเข้าใจในแนวคิด หลักการและวิธีการในการนำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือสอนวิชาต่าง ๆ ส่งเสริมให้ครู กศน. ได้เพิ่มพูนทักษะในการประยุกต์และปรับปรุงรายวิชาที่เปิดสอนอยู่ ณ กศน.ตำบลต่างๆ ให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมท้องถิ่น โดยการสอดแทรกมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในเนื้อหาและวิธีการเรียนรู้ และสร้างโอกาสให้เกิดการตกผลึกในองค์กรเพื่อพัฒนาแผนการเรียนรู้ใหม่ ที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

กิจกรรมภายใต้โครงการระยะนำร่องนี้ประกอบด้วย การวิเคราะห์ความต้องการของหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และประเด็นที่ท้าทายการจัดการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัยในประเทศไทย การอบรมครูจากสถานศึกษาในสังกัด กศน. เรื่อง การบูรณาการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในการศึกษา การมอบทุนสนับสนุนและติดตามความก้าวหน้าในการจัดการสอนตามแผนการเรียนรู้ที่บูรณาการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ใน กศน. อำเภอนำร่อง ทั้ง 8 แห่ง การพัฒนาคู่มือการสอนด้วยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในการศึกษาในการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย และการร่วมจัดงานวันระลึกปีสากลแห่งการรู้หนังสือ (International Literacy Day) เพื่อนำเสนอผลงานภายใต้โครงการนี้

ทุนสนับสนุนการจัดการสอน

คณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจาก กศน. และ ยูเนสโก ได้ร่วมกันพิจารณามอบทุนสนับสนุนการจัดการสอนตามแผนการเรียนรู้ที่บูรณาการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ใน กศน. อำเภอ จำนวน 8 ทุน ทุนละ 30,000 บาท พร้อมรางวัลพิเศษด้านการออกแบบแผนการเรียนรู้ที่มีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ ที่สะท้อนวัตถุประสงค์หลักของอนุสัญญาของยูเนสโกและพันธะกิจของ กศน. อีก 3 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท สำหรับการนำร่องจัดการสอนตามแผนการเรียนรู้ที่บูรณาการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

กศน. อำเภอ 8 แห่งที่ส่งแผนการสอนและได้รับคัดเลือก ได้แก่

  1. กศน. อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งออกแบบแผนการสอนรายวิชา “มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมไทเขิน”
  2. กศน. อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ซึ่งออกแบบแผนการสอนรายวิชา “สมุนไพรพื้นบ้านกับการดูแลสุขภาพ”
  3. กศน. อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ซึ่งออกแบบแผนการสอนรายวิชา “ศูนย์เรียนรู้บ้านป้าเหงี่ยม ม่อฮ่อมแพร่ แหล่งมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” และได้รับรางวัลการออกแบบแผนการเรียนรู้ที่โดดเด่นด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของมรดกภูมิปัญญา
  4. กศน. อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งออกแบบแผนการสอนรายวิชา “หลวงพ่อวัดไร่ขิง มิ่งมงคล คนสามพราน”
  5. กศน. อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ซึ่งออกแบบแผนการสอนรายวิชา “วิถีชีวิตมอญบางขันหมาก”
  6. กศน. อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ซึ่งออกแบบแผนการสอนรายวิชา “สืบสานงานทอผ้าจก”
  7. กศน. อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ซึ่งออกแบบแผนการสอนรายวิชา “ลูกหยียะรัง มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นแห่งชุมชนดงต้นหยี” และได้รับรางวัลการออกแบบแผนการเรียนรู้ที่โดดเด่นด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและนวัตกรรม
  8. กศน. อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งออกแบบแผนการสอนรายวิชา “ภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับกล้วยหิน” และได้รับรางวัลการออกแบบดีเด่นด้านสมรรถนะ วิธีการเรียนการสอน และกิจกรรม

ทั้งนี้ กิจกรรมทดลองสอนใน 8 กศน. อำเภอ ได้ช่วยให้ครูและผู้เรียนที่เข้าร่วมเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งในแนวคิดและหลักการสากลเกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น สามารถประยุกต์และถ่ายทอดความรู้และทักษะการบูรณาการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในการสอนให้แก่ผู้อื่นได้ เกิดการวิเคราะห์และทบทวนรายวิชาที่เปิดสอนอยู่ และชี้ประเด็นที่ต้องพัฒนาต่อยอด อีกทั้งพัฒนาแผนการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่ทั้งช่วยรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และตอบสนองต่อความจำเป็นและการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของชุมชนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม หรือเศรษฐกิจ

โอกาสในอนาคตสำหรับสถานศึกษาภายใต้ กศน.

ยูเนสโกได้นำผลสำเร็จของโครงการในระยะนำร่องนี้ อันเป็นผลงานที่น่าชื่นชมของคณะครูจาก กศน. อำเภอ ทั้ง 8 แห่ง ไปเผยแพร่ในระดับนานาชาติ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสนับสนุนโครงการเช่นนี้อีก ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

เพื่อให้สถานศึกษาภายใต้ กศน. แห่งอื่น ๆ สามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์จากโครงการระยะนำร่องไปต่อยอดได้ กศน. และยูเนสโก ได้จัดทำคู่มือการสอนด้วยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในการศึกษาในการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย ซึ่งรวบรวมหลักการและตัวอย่างที่ดีจาก กศน. อำเภอนำร่อง และโครงการที่เกี่ยวข้องของยูเนสโก เพื่อเปิดโอกาสที่กว้างขวางและชัดเจนยิ่งขึ้นให้กับสถานศึกษาอื่น ๆ ภายใต้ กศน. ให้ได้รับประโยชน์จากแผนงานระดับโลกนี้ได้ในอนาคต